ครูที่เข้า“โครงการสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน”จะไปกู้ที่ไหนอีกไม่ได้ ต้องมีแผนการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้โดยจะมีที่ปรึกษาการเงินคอยดูแล
“ครู”ที่ยื่นความประสงค์เข้า“โครงการสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน” นอกจ่ากจะไปกู้ที่ไหนไม่ได้แล้ว จะต้องทำแผนชีวิต ลดหนี้ เพิ่มรายได้ โดยมีครอบครัวและผู้บังคับบัญชาร่วมด้วยแล้ว จะทำให้มองเห็นอนาคตว่า 120-180 เดือนภายใน 10-15 ปีหนี้จะลด รายได้จะเพิ่มอย่างไร
“ดร.พิษณุ ตุลสุข” ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) อธิบายว่า ปัจจุบันครูที่เป็นหนี้ทั่วประเทศทุกสังกัด ประมาณ 5 แสนคน คิดเป็นเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท
ซึ่งจากนี้ไปจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการจะไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อพิจารณา “ครู”ที่ยื่นความประสงค์เข้า“โครงการสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน”จากนั้นจะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการกลางพิจารณาหากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 9 ข้อก็จะได้รับการอนุมัติ วันที่ 1 มิถุนายน สกสค.จะโอนเงินให้ไปใช้หนี้วิกฤติทั้งหมด
โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมด 9 ข้อในการรับสวัสดิการ โดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นแม้แต่ข้อเดียว ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.การทำสัญญาการคืนเงินสวัสดิการและค่าตอบแทน
ผู้รับสวัสดิการต้องทำสัญญาการคืนเงินและค่าตอยแทนการจัดสวัสดิการให้สำนักงาน สกสค.จังหวัดหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือ สถาบันการเงินอื่น และปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาทุกประการ
2.การเปิดเผยข้อมูลภาวะหนี้สินที่เป็นปัจจุบันหลังได้รับสวัสดิการ
ผู้รับสวัสดิการยินยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลด้านการเงิน และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นปัจจุบันของตนต่อคณะกรรมการจัดสวัสดิการจังหวัด ตามที่คณะกรรมการจัดสวัสดิการกำหนด และยินยอมให้แจ้งสถาบันการเงินในการเข้าร่วมจัดสวัสดิการ
3.การชำระคืนเงินสวัสดิการและค่าตอบแทนจัดสวัสดิการ
ผู้รับสวัสดิการต้องทำหนังสือแสดงความยินยอมให้หักเงิน ณ ที่จ่ายกับหน่วยงานต้นสังกัด
ในกรณีผู้รับสวัสดิการประกอบอาชีพอิสระและไม่มีหน่วยงานต้นสังกัด ให้ชำระด้วยตนเอง หรือ หักเงิน ณ ที่จ่ายของผู้ค้ำประกัน หรือ ผู้ยินยอมให้หักเงินชำระคืนเงินสวัสดิการและค่าตอบแทนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการจัดสวัสดิการกำหนด
4.เงื่อนไขเกี่ยวกับหลักประกันการจัดสวัสดิการ
ผู้รับสวัสดิการต้องทำหลักประกันการจัดสวัสดิการตามแบบที่สำนักงาน สกสค.จังหวัด หรือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่นกำหนด ดังนี้
4.1 ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เดิม หากมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เดิมไม่เพียงพอ ให้ใช้หลักทรัพย์ใหม่ หรือใช้บุคคลค้ำประกัน ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการจัดสวัสดิการกำหนด
4.2 ต้องใช้เงินสงเคราะห์ครอบครัว ช.พ.ค.-ช.พ.ส. เป็นหลักประกันร่วมด้วย
4.3 ต้องทำประกันชีวิตเพื่อเป็นหลักประกันการจัดสวัสดิการ ตามที่คณะกรรมการจัดสวัสดิการกำหนด
5.การวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต
ผู้รับสวัสดิการต้องดำเนินการพัฒนาตนตามแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สิน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
6.การวางแผนการพัฒนาอาชีพ
กรณีผู้รับสวัสดิการยังคงเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาจะต้องดำเนินการพัฒนาวิชาชีพ ตามแผนการพัฒนาวิชาชีพที่ได้ทำร่วมกับคณะกรรมการจัดสวัสดิการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตนเอง
7.เงื่อนไขการป้องกันการก่อหนี้ซ้ำโดยผู้บังคับบัญชา
ผู้บังคับบัญชาให้ความร่วมมือตรวจสอบกำกับไม่ให้ผู้รับสวัสดิการไปก่อนหนี้ซ้ำ และพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายในการส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยทำบันทึกการป้องกันการก่อหนี้ซ้ำตามแบบที่กำหนด
8.เงื่อนไขการร่วมด้วยช่วยคิดโดยคู่สมรส/บุคคลในครอบครัว
ศึกษาทำความเข้าใจในหลักการ วิธีการ และจะให้ความร่วมมือในการจัดสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหานี้สิน,ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือให้กำลังใจแก่ผู้รับสวัสดิการในการดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต
9.เงื่อนไขการกำกับติดตามโดยผู้บังคับบัญชาและคณะกรรมการจัดสวัสดิการจังหวัด
ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น และผู้บังคับบัญชาระดับสูง และคณะกรรมการจัดสวัสดิการจังหวัดมีหน้าที่ในการกำกับติดตามผู้รับสวัสดิการให้ดำเนินการตามข้อตกลงในการรับสวัสดิการ
“เชื่อว่าถ้าครูที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดนี้ จะทำให้สามารถช่วยพวกเขาให้พ้นวิกฤตได้ แต่ถ้าใครไม่ยินยอมก็คงจะแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่ได้ เพราะแผนทั้งหมดจะมีทั้งการหักหนี้ การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร” ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค. กล่าว